ความปลอดภัยในโรงงานเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพื่อป้องกันความเสียหายต่อร่างกาย ทรัพย์สิน เครื่องจักร หรืออุปกรณ์การทำงานต่างๆ บทความนี้ ชวนไปดูว่าความปลอดภัย (Safety) ในโรงงานคืออะไร และมีอะไรบ้างที่ต้องคำนึง พร้อมกับ 7 วิธีการทำให้โรงงานปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ

ทำความรู้จัก ความปลอดภัยในโรงงาน

ความปลอดภัยในโรงงาน คือ สภาพการทำงานที่เป็นไปตามกระบวนการอย่างถูกต้อง ไร้ซึ่งอันตราย ความผิดปกติ หรือการบาดเจ็บใดๆ ระหว่างการทำงานที่อาจส่งผลต่อทรัพย์สิน ร่างกาย หรือชีวิต ส่วนอุบัติเหตุ คือ เหตุการณ์ที่เกิดโดยไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ขณะปฏิบัติงาน ดังนั้น เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน และป้องกันเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นจนก่อให้เกิดความเสียหายภายในโรงงาน อุปกรณ์ และเครื่องจักรต่างๆ นายจ้างจึงควรปฏิบัติตามข้อกฎหมายที่ระบุไว้

ความปลอดภัยในโรงงาน สำคัญอย่างไร

ความปลอดภัยในโรงงาน สำคัญอย่างไร

การรักษาความปลอดภัยในโรงงาน เป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะอุบัติเหตุหรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดมักเกิดขึ้นได้ อีกทั้งยังเป็นสาเหตุหลักของความเสียหาย และเหตุการณ์อันตรายจำนวนมากที่เกิดขึ้นต่อพนักงาน หรือลูกจ้าง เนื่องจากพนักงานฝ่ายผลิตมักต้องทำงาน หรือสัมผัสกับเครื่องจักร วัสดุ หรือสารที่เป็นอันตรายอยู่เสมอ สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญของการทำงานที่อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บสาหัส การเจ็บป่วย หรือการเสียชีวิตได้

ความปลอดภัยในโรงงาน มีอะไรบ้าง

ความปลอดภัยในโรงงาน มีอะไรบ้าง

นายจ้างควรปฏิบัติตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 ที่มีข้อกำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับความปลอดภัยในโรงงานอุตสาหกรรมไว้ ดังนี้

  • นายจ้างมีหน้าที่จัดและดูแลสถานที่ทำงานและลูกจ้าง ให้มีสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ และลูกจ้างก็ต้องให้ความร่วมมือกับนายจ้างเกี่ยวกับการปฏิบัติตามข้อกำหนดเรื่องความปลอดภัยเช่นเดียวกัน
  • นายจ้างต้องเป็นผู้ออกค่าชดเชยให้กับลูกจ้าง ในส่วนของการดำเนินการเกี่ยวกับความปลอดภัยที่กำหนดโดยพระราชบัญญัติ
  • นายจ้างต้องมีการจัดทำเอกสาร หรือรายงานเกี่ยวกับความปลอดภัยในโรงงานผลิต ซึ่งได้รับการประเมินและอนุญาตจากบุคคล หรือนิติบุคคลตามกฏกระทรวง
  • นายจ้างต้องมีการจัดจ้าง เจ้าหน้าที่ บุคคลากร หรือคณะบุคคล ในการดูแลเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งเป็นไปตามกฏที่กระทรวงกำหนด
  • ในกรณีที่ต้องมีการทำงานในสภาพการทำงานที่เสี่ยงภัยต่อสุขภาพ ชีวิต จิตใจ และสุขอนามัยของลูกจ้าง นายจ้างต้องมีการแจ้งเกี่ยวกับความเสี่ยงและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อลูกจ้างก่อนเสมอ และต้องมีการแจกคู่มือความปลอดภัยให้ลูกจ้างก่อนการเริ่มงาน เปลี่ยนงาน หรือเปลี่ยนสถานที่ทำงาน
  • นายจ้างต้องจัดให้มีการอบรมพนักงานและลูกจ้างทุกคน เกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัย สุขอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัย
  • หากมีการเปลี่ยนเครื่องมือ ย้ายงาน หรือเปลี่ยนตำแหน่งของลูกจ้าง นายจ้างต้องมีหน้าที่ฝึกอบรมลูกจ้างก่อนการเริ่มงานเสมอ
  • นายจ้างต้องทำการติดป้ายสัญลักษณ์เตือนอันตราย และป้ายสิทธิความปลอดภัยของพนักงานให้เห็นได้อย่างชัดเจน
  • ลูกจ้างมีหน้าที่ให้การสนับสนุน และร่วมมือกับนายจ้างในการดูแลสภาพแวดล้อมในการทำงานที่สอดคล้องกับกฏหมายความปลอดภัยในโรงงานอุตสาหกรรมของกระทรวง
  • กรณีที่ลูกจ้างพบข้อบกพร่องในการทำงานของอุปกรณ์ หรือพบเจอการชำรุดของเครื่องจักร ให้ทำการแจ้งต่อผู้ที่รับผิดชอบให้รับทราบทันที
  • นายจ้างต้องทำการจัดการและดูแลให้ลูกจ้างและพนักงานสวมใส่อุปกรณ์รักษาความปลอดภัยในโรงงาน โดยนายจ้างสามารถสั่งให้ลูกจ้างหยุดดำเนินงานจนกว่าจะสวมใส่อุปกรณ์ได้
  • ลูกจ้างมีหน้าที่สวมใส่ อุปกรณ์ป้องกัน หรือ อุปกรณ์รักษาความปลอดภัยที่โรงงานกำหนด
อุบัติเหตุในที่ทำงาน เกิดจากอะไร

อุบัติเหตุในที่ทำงาน เกิดจากอะไร

อุบัติเหตุในที่ทำงาน คือ เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดระหว่างการปฏิบัติงาน ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม อุบัติเหตุอาจก่อให้เกิดการสูญเสียทรัพย์สิน และเป็นภัยอันตรายถึงแก่ชีวิตได้มาก ดังนั้น จึงควรรับรู้เกี่ยวกับสาเหตุที่เกิดขึ้นได้บ่อยเพื่อหาวิธีการป้องกันอุบัติเหตุในโรงงานและแนวทางปฏิบัติไม่ให้เกิดอันตรายขึ้น โดยอุบัติเหตุที่ทำงานที่พบบ่อย มีดังนี้

  • สภาพการทำงานที่เป็นอันตราย: เกิดจากสภาพแวดล้อมที่ไม่สะอาด หรือไม่เป็นระเบียบ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น การสะดุดล้มจากการวางอุปกรณ์ไม่เป็นระเบียบ
  • ความประมาทเลินเล่อในการทำงาน: การที่ลูกจ้างทำงานไม่รอบคอบ หละหลวม หรือละเมิดกฎความปลอดภัยในโรงงาน จนก่อให้เกิดอุบัติเหตุที่ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บ สูญเสียชีวิต หรือทรัพย์สิน
  • การใช้เครื่องมืออย่างไม่ถูกต้อง: การขาดความเข้ารู้ความเข้าใจในอุปกรณ์ จนทำให้ใช้เครื่องมือผิดวิธีเกิดอันตรายต่อร่างกาย เครื่องมือ และอุปกรณ์ชำรุด หรือได้รับความเสียหาย
  • การไม่สวมใส่ อุปกรณ์รักษาความปลอดภัยในโรงงาน: ด้วยความประมาท และชะล่าใจในการสวมใส่อุปกรณ์รักษาความปลอดภัยต่างๆ อาจทำให้เกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์
  • การแต่งกายที่ไม่เหมาะสม: ควรแต่งกายตามเครื่องแบบให้ถูกระเบียบ รวมถึงการเก็บผมและการใส่เครื่องประดับ ที่อาจไปขัดขวางการทำงานของอุปกรณ์ จนทำให้เกิดอันตราย
  • การทำงานในขณะที่สภาพร่างกายหรือจิตใจไม่พร้อม: การปฏิบัติงานควรมีร่างกายและจิตใจที่พร้อม เพราะปัญหาที่เกิดจากการนอนหลับไม่เพียงพอ ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล อาจทำให้พลาดพลั้งเกิดอุบัติเหตุระหว่างการทำงานได้
  • การเร่งรีบในการทำงาน: การฝืนเพิ่มความเร็วของเครื่องจักร หรือการเร่งรีบในการทำงานอาจก่อให้เกิดข้อผิดพลาด ไปจนถึงความเสียหายในโรงงานได้
รวม 7 วิธีการจัดการความปลอดภัยในโรงงาน

รวม 7 วิธีการจัดการความปลอดภัยในโรงงาน

สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุในที่ทำงานสามารถเกิดได้ตลอดเวลา การป้องกันอุบัติเหตุในโรงงานจึงเป็นอีกหนึ่งความรับผิดชอบที่ทั้งนายจ้างและลูกจ้างควรให้ความร่วมมือกัน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยภายในโรงงาน และลดความเสี่ยงของอันตรายที่เกิดจากความผิดปกติของการทำงาน โดยสามารถทำได้ดังนี้

1. วางแผนดำเนินการเพื่อประเมินความเสี่ยง

สิ่งแรกที่ควรคำนึงถึง คือ ความปลอดภัยในโรงงานผลิต โดยนายจ้างสามารถหาวิธีป้องกัน หรือระบุสาเหตุของอันตรายได้โดยการประเมินความเสี่ยงล่วงหน้าที่มีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยให้ทราบถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในโรงงาน และทำการบำรุงรักษา หรือซ่อมแซมอุปกรณ์ที่ชำรุด ลดความเสียหายต่อพนักงาน และค่าเสียหายต่อทรัพย์สินน้อยลง ซึ่งการจ้างผู้ประเมินโรงงานเพื่อพัฒนาแผนการประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตโดยเฉพาะจะช่วยประเมินความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ และสามารถแนะนำมาตรการควบคุม เพิ่มการจัดการความปลอดภัยในโรงงาน และตรวจสอบสภาพการทำงานของอุปกรณ์ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง

2. ให้ความสำคัญกับความสะอาด

ความสะอาดเป็นสิ่งสำคัญพื้นฐานในการผลิต พื้นที่ทำงานที่ไม่เป็นระเบียบ พื้นเปียกหรือมันเยิ้ม สภาพแวดล้อมเหล่านี้สามารถเพิ่มความเสี่ยงของเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดในที่ทำงานได้ ด้วยเหตุนี้ การป้องกันอุบัติภัยในโรงงาน นายจ้างและลูกจ้างควรหมั่นตรวจสอบ รักษาความสะอาดทางเดิน อุปกรณ์ และสถานที่ทำงานร่วมกัน เพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ เช่น การลื่นล้ม วงจรไฟฟ้าชำรุด หรือเพลิงไหม้ บริเวณพื้นควรดูแลให้แห้ง สะอาด ปราศจากฝุ่น เศษโลหะ หรือวัตถุไวไฟ รวมทั้งจัดเรียงอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ ให้เป็นระเบียบเสมอ

3. สวมใส่อุปกรณ์ Safety ที่จำเป็น

พนักงานที่ต้องทำการใกล้ชิดกับอุปกรณ์ หรือเครื่องจักรควรสวมอุปกรณ์ป้องกันเสมอ เพื่อความปลอดภัยในโรงงาน และลดโอกาสที่จะได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ โดยอ้างอิงจากมาตรฐาน OSHA ของสำนักงานบริหารความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการกำหนดให้พนักงานต้องสวมอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ได้แก่ ถุงมือ หมวก รองเท้านิรภัย ที่อุดหู หมวกแข็ง เครื่องช่วยหายใจ และชุดเต็มตัว เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายได้รับอันตราย หรือการบาดเจ็บระหว่างการทำงาน เช่น หากทำงานเกี่ยวกับงานเชื่อม การสวมแว่นตาป้องกันและฝาครอบในระหว่างปฏิบัติงานจะช่วยปกป้องดวงตาจากการเผาไหม้ของรังสีอัลตราไวโอเลต อินฟราเรด และควันเชื่อมที่เป็นพิษ

4. ตรวจสอบกลไกการป้องกันของเครื่องจักร

ก่อนเริ่มปฏิบัติการใดๆ ควรตรวจสอบกลไกการป้องกันของเครื่องจักรอยู่เสมอ เพื่อความปลอดภัยในโรงงาน เช่น การตรวจสอบการติดตั้งของอุปกรณ์ก่อนเริ่มทำการผลิตอยู่เสมอ เพื่อให้แน่ใจว่าเครื่องมือได้รับการติดตั้งอย่างถูกต้องและไม่ชำรุด ในขณะเดียวกัน ควรอนุญาติฝึกฝนให้ลูกจ้างที่มีทักษะและสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสมในการตรวจสอบและใช้งานเครื่องจักร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บในสถานที่ทำงาน

5. ห้ามวางของกีดขวางทางออกฉุกเฉิน

กรณีที่เกิดอุบัติเหตุ การจัดการความปลอดภัยในโรงงานควรเตรียมพื้นที่สำหรับหลบหนีได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ดังนั้น ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่มีสิ่งกีดขวางที่ปิดกั้นทางออกฉุกเฉิน การปิดกั้นอุปกรณ์ และพื้นที่ที่ทำงานอยู่ เพราะสภาพแวดล้อมที่รกเกะกะอาจทำให้มีพื้นที่ไม่เพียงพอในการใช้เครื่องมือป้องกันและจัดการกับอุบัติเหตุฉุกเฉินได้ นอกจากนี้ หากทางออกฉุกเฉินถูกกีดขวาง ลูกจ้างอาจไม่สามารถหลบหนีได้ทันท่วงที ก่อให้เกิดความเสียหาย หรืออาการบาดเจ็บที่มากกว่าที่ควรจะเป็น

6. ใช้อุปกรณ์ เครื่องจักร และเครื่องมือให้ถูกต้อง

แม้ว่าโรงงานผลิตและเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ จะได้รับการออกแบบเพื่อความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน พนักงานหรือลูกจ้างก็ควรใช้เครื่องมือ Safety ในโรงงาน และใช้งานเครื่องจักรอย่างถูกวิธีตามคู่มือ โดยไม่ควรประมาทและหมั่นศึกษาการทำงานของเครื่องมืออยู่เสมอ เพราะบางครั้งอุปกรณ์บางรุ่นอาจมีการอัปเดตหรือเปลี่ยนแปลงวิธีการใช้งาน หากเครื่องจักรไม่ได้รับการติดตั้งอย่างเหมาะสม อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บสาหัสถึงแก่ชีวิต ในทำนองเดียวกัน การที่พนักงานมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเครื่องมือจะช่วยป้องกันไม่ให้อุปกรณ์เกิดการชำรุด และยืดระยะการใช้งานจากการทำงานที่ไม่ถูกวิธีได้

7. ฝึกอบรมความปลอดภัยให้พนักงานเป็นประจำ

เนื่องจากแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัยในโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องจัดให้มีการฝึกอบรมแก่พนักงานเป็นระยะๆ เพื่อให้มั่นใจว่าบุคลากรมีทักษะที่สามารถทำงานกับเครื่องจักรได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ การใช้เครื่องมือในทางที่ผิดหรือการขาดความเชี่ยวชาญอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้ ดังนั้น การที่พนักงานได้รับการฝึกอบรมให้ปฏิบัติตามระเบียบการด้านความปลอดภัยเป็นประจำจะช่วยลดความเสี่ยงของอุบัติเหตุ และการบาดเจ็บในสถานที่ทำงานได้ เช่น คนงานไม่ควรได้รับอนุญาตให้ยกอุปกรณ์หนักด้วยตนเอง แต่ควรได้รับการสนับสนุนให้ใช้อุปกรณ์ขนถ่ายวัสดุ เช่น คานยก เพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่หลัง ไหล่ และส่วนอื่นๆ

AI Safety กับความปลอดภัยในโรงงาน

นอกจากการจัดการความปลอดภัยทั่วไปในโรงงานแล้ว ในปัจจุบันมีการนำระบบ AI มาใช้งานในภาคอุตสาหกรรมเพื่อช่วยเพิ่มความปลอดภัยในโรงงาน เพราะ AI สามารถตรวจสอบและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานของพนักงาน รวมทั้งมีระบบ Computer Vision ในการจับความผิดปกติที่เกิดขึ้นของอุปกรณ์ในโรงงาน สิ่งแวดล้อม เช่น ความชื้น อุณหภูมิ การสั่นสะเทือน ที่อาจก่ออุบัติเหตุที่ไม่พึงประสงค์ภายในที่ทำงานได้ ซึ่งจะช่วยลดอุบัติเหตุและปัญหาระหว่างการปฏิติงาน ส่งเสริมมาตรฐานของโรงงานและการผลิตได้

ประโยชน์ของ AI Safety ในโรงงาน

ประโยชน์ของ AI Safety ในโรงงาน

ด้วยประสิทธิภาพของ AI Safety ในโรงงาน ทำให้ถูกนำมาใช้เสริมความปลอดภัยในที่ทำงานมากขึ้น ซึ่ง AI Safety มีประโยชน์ในด้านการรักษาความปลอดภัยในโรงงาน ดังนี้

1. ช่วยตรวจสอบความปลอดภัยแบบเรียลไทม์

ระบบ AI อัตโนมัติช่วยตรวจสอบความปลอดภัยแบบเรียลไทม์ (Real-time) โดยสามารถระบุอันตรายที่อาจเกิดขึ้นและจัดการความเสี่ยงเชิงรุกด้วยกล้องและเซนเซอร์อัจฉริยะ โดยผู้ผลิตสามารถใช้ประโยชน์ได้จาก AI เพื่อตรวจสอบสภาพการปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอ เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และเพิ่มผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อ AI สามารถตรวจจับความผิดปกติแบบเรียลไทม์และสามารถแจ้งได้ทันที ทำให้นายจ้างสามารถตรวจสอบ และแก้ไขปัญหาการรักษาความปลอดภัยในโรงงานได้ท่วงที ลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นและทำให้แน่ใจว่าสามารถดำเนินงานต่อได้ผลลัพธ์ตามกระบวนการปกติ และสร้างความมั่นใจให้กับพนักงานในการทำงานให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ AI เพื่อตรวจสอบสภาพแวดล้อม เช่น คุณภาพอากาศ อุณหภูมิ และความชื้น เพื่อให้แน่ใจว่าสภาพการทำงานอยู่ภายในขีดจำกัดที่ปลอดภัย และช่วยป้องกันปัญหาด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมได้

2. ตรวจสอบการทำงานให้ถูกต้อง

แน่นอนว่าการตรวจสอบการทำงานให้ถูกต้องจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในโรงงาน และลดโอกาสการเกิดอันตรายต่างๆ ที่มาจากการทำงานผิดปกติของเครื่องจักร รวมถึงข้อผิดพลาดและอุบัติเหตุ โดย AI สามารถประมวลผลข้อมูลและรูปแบบการทำงานที่ถูกต้องอย่างถูกวิธีได้ เพื่อระบุแนวโน้มหรือการผิดปกติของอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงประสิทธิภาพในการทำงานของเครื่องจักร และอุปกรณ์ที่ระบบ AI ช่วยวัดพารามิเตอร์ต่างๆ เช่น อุณหภูมิ ความดัน การสั่นสะเทือน และอื่นๆ ความผิดปกติในการวัดเหล่านี้สามารถบ่งบอกถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในภายหลัง เพื่อแก้ไขและเตรียมรับมือป้องกันเหตุการณ์ครั้งต่อไป

3. แจ้งเตือนเมื่อมีแนวโน้มของความเสี่ยง

วิธีการหลักที่ระบบความปลอดภัยของ AI ตรวจจับอันตรายที่อาจเกิดขึ้น คือ การตรวจจับผ่านระบบ Computer Vision โดยเทคโนโลยีนี้ช่วยให้ AI มองเห็นพื้นที่ในโรงงาน ช่วยเพิ่มการแจ้งเตือนด้านความปลอดภัยแบบเรียลไทม์ เช่น สังเกตพนักงานที่อาจไม่ได้สวมอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ที่เหมาะสม ในโซนความปลอดภัยที่กำหนด นอกจากนี้ AI ที่ใช้ Computer Vision ยังสามารถปิดอุปกรณ์ จำกัดการเข้าถึงบางพื้นที่ และแจ้งเตือนพนักงาน หากเห็นหรือคาดการณ์ความผิดปกติด้านความปลอดภัยในโรงงาน อย่างไรก็ตาม AI ไม่สามารถทดแทนการฝึกอบรมแบบปกติได้ แต่สามารถใช้ Computer Vision เป็นเครื่องมือสำคัญที่ผู้จัดการโรงงานสามารถใช้ตรวจสอบสายการผลิต เพื่อควบคุมคุณภาพและทำให้โรงงานปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

4. สอดส่องการทำงาน พร้อมสรุปข้อมูลเป็นแดชบอร์ด

AI ช่วยให้ผู้ผลิตเพิ่มความปลอดภัยในโรงงานให้แก่พนักงานด้วยระบบการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งระบบ AI สามารถติดตามจำนวนเหตุการณ์ด้านความปลอดภัยของพนักงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คำเตือน หรือการฝ่าฝืนกฏ จากนั้น AI สามารถนำข้อมูลนี้ไปรวมกับข้อมูลพนักงานแต่ละคน เพื่อบันทึกความปลอดภัยของพนักงานแบบองค์รวม เช่น ประสบการณ์การทำงาน กะชั่วโมงทำงาน และหน่วยวัดที่รวบรวมจากอุปกรณ์ที่สวมใส่ได้ ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิร่างกาย ความเครียดของกล้ามเนื้อ และจำนวนน้ำหนักที่พนักงานยกต่อกะ ซึ่งสามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้ทำความเข้าใจพนักงาน และรักษาสภาพแวดล้อมการทำงานให้ปลอดภัย นอกจากนี้ ยังสามารถใช้การวิเคราะห์ข้อมูลที่ขับเคลื่อนด้วย AI เพื่อพิจารณาว่าพนักงานคนใดต้องการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยเพิ่มเติม และเพื่อจับคู่พนักงานกับงานตามทักษะและความสามารถทางกายภาพได้ดียิ่งขึ้น

5. ช่วยลดต้นทุนในการผลิต

AI Safety ช่วยลดต้นทุนการผลิต เพราะสามารถป้องกันข้อผิดพลาดและควบคุมการผลิตให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีคุณภาพและรวดเร็ว ลดค่าใช้จ่ายจากอุบัติเหตุที่มีใช้จ่ายสูง เช่น อุปกรณ์เสียหาย การบาดเจ็บ ข้อบกพร่องหรือความล่าช้าในการผลิต โดยอัลกอริทึมของ AI จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตโดยการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาลเพื่อระบุจุดที่ต้องปรับปรุง นำไปสู่การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการใช้พลังงาน ต้นทุนการดำเนินงาน และใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

สรุป

ความปลอดภัยในโรงงาน คือ การปฏิบัติงานไปตามกระบวนการอย่างปกติโดยไร้ซึ่งอันตราย หรือข้อวิตกกังวลต่างๆ หากพนักงานสามารถทำงานในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยจะช่วยให้ผลลัพธ์เป็นไปตามที่ต้องการอย่างมีประสิทธิภาพ และหากไม่มีความปลอดภัยในโรงงานอาจเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน ร่างกาย และชีวิต รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดจากความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้น การนำ AI Safety เข้ามาใช้งานจะช่วยรวบรวมข้อมูลการทำงานของพนักงาน วิเคราะห์ความเสี่ยงจากสภาพแวดล้อม และการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ โดยเฉพาะ dIA Operator Monitoring ที่เป็นระบบ AI Safety สำหรับโรงงานที่กำลังมองหาตัวช่วยคอยสอดส่อง ควบคุมความปลอดภัยในโรงงาน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และประหยัดต้นทุนจากข้อมูลวิเคราะห์เชิงลึกแบบเรียลไทม์ให้การทำงานเป็นไปอย่างสะดวก ราบรื่น และปลอดภัย