เซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว เป็นเทคโนโลยีทันสมัยที่มีประโยชน์ สามารถช่วยประหยัดพลังงาน และลดต้นทุนของธุรกิจ หรือองค์กรต่างๆ ได้ มาดูหลักการทำงานของเซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว เพื่อทำความรู้จัก และดูว่าจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจในด้านใดได้บ้างในบทความนี้

เซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว (Motion Sensor) คืออะไร

เซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว (Motion Sensor) คืออะไร

เซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว (Motion Sensor) คือ เซนเซอร์ชนิดหนึ่งที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในการตรวจจับความเคลื่อนไหวทางกายภาพของวัตถุเมื่อมีการเคลื่อนไหวในขอบเขตรัศมีที่กำหนด ทั้งในแนวตั้ง และแนวนอนเลย นิยมนำมาใช้ในเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับระบบดูแลรักษาความปลอดภัย ทั้งภายในที่อยู่อาศัย หรือในธุรกิจเพื่อตรวจจับผู้บุกรุกสถานที่ นอกจากนี้ ยังพบเห็นได้ในอุปกรณ์เครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวก เช่น โทรศัพท์มือถือ เครื่องจ่ายแอลกอฮอล์ ไปจนถึงเครื่องเล่นเกมต่างๆ เช่น เครื่องเล่นเกมคอนโซล VR (Virtual Reality) เป็นต้น

Motion Sensor มีหลักการทํางานอย่างไร

หลักการทำงานของเซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว คือ ตัวเครื่อง หรืออุปกรณ์จะทำการปล่อยเซนเซอร์ออกไปภายในรัศมีพื้นที่ที่ได้มีการกำหนดไว้ เมื่อตรวจพบความเคลื่อนไหวต่างๆ หรือการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติทางกายภาพของวัตถุ เช่น แสงสว่าง ความหนาแน่น แรงดัน หรืออุณหภูมิ เซนเซอร์จะทำการแปลงเป็นสัญญาณไฟฟ้าส่งไปยังระบบซอฟต์แวร์ ระบบซอฟต์แวร์จะทำการประมวลผลข้อมูล และส่งไปยังศูนย์รับข้อมูลตามที่ได้ตั้งค่าไว้ เช่น แอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน หรือหน่วยรับข้อมูลของผู้ให้บริการ เพื่อควบคุม หรือสั่งการให้อุปกรณ์ทำงานตามที่มีการกำหนดไว้

เซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว มีกี่ประเภท

เซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว มีกี่ประเภท

เซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลักๆ ดังนี้

1. Ultrasonic

Ultrasonic เป็นเซนเซอร์ที่ตรวจจับความเคลื่อนไหวของวัตถุต่างๆ อาศัยหลักการสะท้อนของคลื่นความถี่เสียง โดยการปล่อยคลื่น Ultrasonic หรือคลื่นความถี่เสียงในช่วง Ultrasound ที่มีความถี่ตั้งแต่ 20 KHz ขึ้นไปออกไปกระทบกับวัตถุ และตรวจวัดการสะท้อนกลับของคลื่นอัลตราโซนิกที่ปล่อยออกไป เพื่อทำการคำนวณหาระยะห่าง แล้วทำการเทียบเวลาในขณะที่มีวัตถุเคลื่อนที่ 

ในปัจจุบันมีการนำ Ultrasonic ไปใช้ในเทคโนโลยีหลากหลายอย่าง เช่น เครื่องควบคุมระยะไกล (Ultrasonic Remote Control) เครื่องตรวจวัดระดับน้ำ การควบคุมระดับสารเคมี การตรวจจับชิ้นงาน หรือการตรวจจับความหนาของวัตถุในการผลิต เป็นต้น

2. Passive Infrared Sensors (PIR)

Passive Infrared Sensors หรือ PIR sensor เป็นเซนเซอร์ตรวจจับคลื่นรังสีอินฟราเรดจากวัตถุ มีส่วนประกอบหลักที่ใช้ในการตรวจจับคือ Pyroelectric sensor ซึ่งเป็นเซนเซอร์ที่ไวต่อการตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอย่างมาก จึงมีการนำมาประยุกต์ใช้ในการตรวจจับความเคลื่อนไหวของสิ่งมีชีวิตที่มีความร้อน เช่น คน และสัตว์ เพื่อส่งสัญญาณไปแจ้งเตือน หรือสั่งการการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ ได้

ในปัจจุบันมีการนำ PIR sensor ไปใช้ในเทคโนโลยีหลากหลายอย่าง เช่น สวิตช์เปิด-ปิดไฟอัตโนมัติเมื่อมีคนเดินผ่าน การตรวจจับผู้บุกรุกสถานที่ หรือเซนเซอร์ประตูทางเข้าออก เป็นต้น

3. Microwave

Microwave เป็นเซนเซอร์ที่ตรวจจับความเคลื่อนไหวของวัตถุต่างๆ โดยอาศัยหลักการสะท้อนของคลื่นคล้ายกับ Ultrasonic แต่จะเป็นคลื่น Microwave แทน ซึ่งเป็นคลื่นที่มีความยาวคลื่นสั้นมาก สามารถตอบสนอง และตรวจจับการเคลื่อนไหวของวัตถุ และสิ่งมีชีวิตได้อย่างรวดเร็ว 

ในปัจจุบันมีการนำ Microwave ไปใช้ในเทคโนโลยีหลากหลายอย่าง เช่น ประตูอัตโนมัติ โดยเฉพาะสำหรับพื้นที่บริเวณกว้างอย่างประตูทางเข้าอาคาร ห้างสรรพสินค้า โรงแรม หรือสำนักงาน เป็นต้น

ประโยชน์ของเซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว

ประโยชน์ของเซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว

ประโยชน์ของเซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวนั้นกลายเป็นตัวช่วยที่ดีในการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมากมาย ดังนี้

ลดการใช้พลังงาน

เซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวช่วยลดการใช้พลังงานได้ เช่น การนำมาใช้ในการตรวจจับความเคลื่อนไหวการให้แสงสว่างของโคมไฟถนน หรือโคมไฟส่องสว่าง ซึ่งจะตรวจจับการเคลื่อนไหวทั้งกลางวัน และกลางคืน เพื่อเป็นระบบเปิด-ปิดไฟแบบอัตโนมัติ ช่วยปิดไฟเมื่อไม่มีคนอยู่ในบริเวณที่เซนเซอร์กำหนด ช่วยประหยัดพลังงาน และประหยัดค่าไฟได้

ทำงานร่วมกับกล้องวงจรปิด

เซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวช่วยทำงานร่วมกับกล้องวงจรปิดได้ เช่น การเปิด-ปิดไฟอัตโนมัติ เมื่อเซนเซอร์ตรวจพบการเคลื่อนไหวของผู้บุกรุก จะมีการแจ้งเตือน และเปิดไฟสปอตไลต์ที่มีแสงสว่างมาก เพื่อช่วยให้กล้องวงจรปิดสามารถจับภาพได้ชัดเจนมากขึ้น ทำให้ง่ายต่อการตามหาตัวผู้บุกรุก

เพิ่มความปลอดภัย แจ้งเตือนสิ่งผิดปกติ

เซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวช่วยเพิ่มความปลอดภัย และช่วยแจ้งเตือนสิ่งผิดปกติได้ อย่างเช่น ไฟที่เปิดอัตโนมัติหากมีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติในบริเวณที่ไม่มีคนอยู่ ช่วยแจ้งเตือนให้คนในบ้านรู้ตัว และพร้อมรับมือกับสถานการณ์นั้นๆ ได้ทันท่วงที ช่วยเพิ่มความปลอดภัยในแหล่งที่อยู่อาศัยได้

เซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว และ AI ตรวจจับความเคลื่อนไหว แตกต่างกันอย่างไร

ในอุตสาหกรรมการผลิต หรือองค์กรต่างๆ เซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวเพียงอย่างเดียว สามารถตรวจจับวัตถุ หรือการเคลื่อนไหวของวัตถุได้ แต่ยังจำเป็นต้องใช้พลังงาน หรือคนในการตัดสินใจเพื่อกำหนดขอบเขตและควบคุมการสั่งงานอยู่ แต่ AI ตรวจจับความเคลื่อนไหวจะสามารถตรวจจับวัตถุ หรือการเคลื่อนไหวของวัตถุได้ และสามารถวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับความผิดปกติที่ตรวจพบได้ตามข้อมูลที่ตั้งค่าไว้ (Setting) 

ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีการนำ AI มาช่วยพัฒนาการทำงานของเซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวให้มีประสิทธิภาพในการทำงานเทียบเท่ามนุษย์ได้มากที่สุด เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ลดแรงงานมนุษย์ ประหยัดเวลา และเพิ่มความแม่นยำในสิ่งที่มนุษย์อาจจะผิดพลาดได้ จนกลายเป็น AI ตรวจจับความเคลื่อนไหว นั่นเอง

หน้าที่ของ AI ตรวจจับการเคลื่อนไหวในโรงงานอุตสาหกรรมและองค์กรต่างๆ

หน้าที่ของ AI ตรวจจับการเคลื่อนไหวในโรงงานอุตสาหกรรมและองค์กรต่างๆ

ในปัจจุบันต้องยอมรับว่าเซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวถูกพัฒนาไปอย่างก้าวหน้า และมีประสิทธิภาพ หลายๆ องค์กรจึงไว้วางใจ และเลือกใช้ AI มาช่วยในการทำงานแทนมนุษย์ในบางภาคส่วน ดังนี้

บริหารและจัดระเบียบพนักงาน

AI ตรวจจับการเคลื่อนไหวสามารถนำมาใช้ในการบริหาร และจัดระเบียบพนักงานได้ด้วยการสแกนใบหน้า อย่าง  DIA SMART OFFICE ที่มีการใช้ระบบ AI ร่วมกับเทคโนโลยีจดจำใบหน้า เพื่อช่วยในการระบุตัวตนของบุคคลในบริษัท องค์กร หรือโรงงานด้วยการวิเคราะห์ผ่านรูปภาพ หรือวิดีโอเทียบกับใบหน้าที่มีอยู่ในฐานข้อมูลขององค์กร ซึ่งมีประโยชน์ในด้านการบริหาร และจัดระเบียบพนักงาน เช่น การรักษาความปลอดภัย การเข้าถึงข้อมูล การติดตามการเข้า-ออกงาน ซึ่งจะมีความสะดวกรวดเร็ว และมีความแม่นยำสูงกว่ากว่าการใช้พนักงานในการตรวจสอบ

ควบคุมการผลิตให้มีคุณภาพ

AI ตรวจจับการเคลื่อนไหวสามารถควบคุมการผลิตให้มีคุณภาพได้ อย่าง dIA QC Vision ที่มีการทำงานร่วมกับระบบ Robot Process Automation ซึ่งเป็นระบบอัตโนมัติที่มีการทำงานในลักษณะซ้ำๆ เพื่อช่วยในการตรวจสอบกระบวนการผลิต และแจ้งเตือนเมื่อพบข้อผิดพลาดระหว่างขั้นตอนการทำงาน เช่น เซนเซอร์ตรวจจับวัตถุ ที่ช่วยตรวจสอบ และควบคุมสภาพแวดล้อมในกระบวนการผลิต เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น ทั้งยังช่วยในการวิเคราะห์ และปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพยิ่งขึ้น ซึ่งจะมีข้อได้เปรียบกว่าการใช้แรงงานคนตรงที่มีความแม่นยำ มีความน่าเชื่อถือ และลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้

คัดแยกผลิตภัณฑ์ที่ผิดพลาด

AI ตรวจจับการเคลื่อนไหวสามารถคัดแยกผลิตภัณฑ์ที่ผิดพลาดได้อย่าง dIA QC Vision (Packaging) ที่ช่วยตรวจสอบ นับจำนวน และคัดแยกชนิดของผลิตภัณฑ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะมีการตรวจสอบ การนับจำนวน และคัดแยกสินค้าระหว่างกระบวนการลำเลียงสินค้าผ่านทางสายพาน โดยการทำงานร่วมกับระบบ Robot Process Automation ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ รวมถึงช่วยลดแรงงานคนในการตรวจสอบคุณภาพ และการคัดแยกสินค้าได้อย่างมาก

เพิ่มความปลอดภัยในการทำงาน

AI ตรวจจับการเคลื่อนไหวสามารถเพิ่มความปลอดภัยในการทำงานได้ โดยการใช้ระบบเซนเซอร์ตรวจจับวัตถุในโรงงานที่มีทั้งเครื่องจักร อุปกรณ์ หรือสารเคมีต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้อง และอาจเป็นอันตรายต่อมนุษย์ได้ เช่น การใช้เซนเซอร์ช่วยตรวจวัดอุณหภูมิ ตรวจจับความร้อนในเครื่องจักรที่อาจเกินขีดจำกัด หรือการใช้เซนเซอร์ตรวจจับความดันในการตรวจสอบการรั่วซึมของแก๊ส ซึ่งการใช้ AI เข้าช่วยจะทำให้ตรวจสอบได้ทั่วถึงและแจ้งเตือนได้ทันเวลากว่าการใช้พนักงานตรวจสอบ

ประเมินคุณภาพ และปรับปรุงการผลิต

AI ตรวจจับการเคลื่อนไหวสามารถประเมินคุณภาพ และปรับปรุงการผลิตได้อย่าง dIA Digital Meter Reading AI ที่สามารถอ่านค่าวัด ตรวจสอบ และระบุเครื่องมือวัดที่ใช้ พร้อมทั้งแจ้งเตือนกรณีมีการใช้เครื่องมือวัดที่ผิดชนิด เพื่อป้องกันการเกิดข้อผิดพลาดระหว่างการประเมินคุณภาพสินค้า นอกจากนี้ ยังมีการนำระบบ Robot Process Automation มาช่วยในการบันทึกข้อมูล และค่าต่างๆ ที่วัดได้แบบเรียลไทม์ ทำให้สามารถติดตาม และจัดการข้อมูลในระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความรวดเร็ว ถูกต้องแม่นยำ และช่วยลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดจากการทำงานของมนุษย์ได้

สรุป

เซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว หรือ Motion Sensor คือ เซนเซอร์ชนิดหนึ่งที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในการตรวจจับความเคลื่อนไหวทางกายภาพของวัตถุเมื่อมีการเคลื่อนไหวในขอบเขตรัศมีที่กำหนดไว้ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ Ultrasonic Sensor, Passive Infrared (PIR) Sensor และ Microwave Sensor นั่นเอง

ในปัจจุบันมีการนำมาประยุกต์ใช้ในเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับระบบดูแลรักษาความปลอดภัยภายในที่อยู่อาศัย หรือในธุรกิจ รวมถึงนำมาใช้เพื่อช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต ไปจนถึงการนำ AI เข้ามาช่วยในการทำงานของเซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในองค์กร และธุรกิจต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพที่ดีกว่าทั้งในด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล การประเมินคุณภาพ การควบคุม การปรับปรุงการผลิต การคัดแยกผลิตภัณฑ์ การเพิ่มความปลอดภัยในการทำงาน ช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพ ประหยัดเวลา แรงงาน และช่วยลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้